กลุ่มชนชาวทะเล

ชาวเล

ชาวเล หรือยิปซีทะเล เป็นกลุ่มชนร่อนเร่อยู่ในบริเวณทะเลอันดามัน ชื่อที่คนส่วนใหญ่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่า ชาวเล คงจะเนื่องมาจากการที่พวกเขาเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่ในท้องทะเล

      ชาวเลหมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่าที่มีภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะของตนเองอันแตกต่างไปจากคนไทย ในสมัยก่อนคนไทยเรียกชนเผ่าพวกนี้ว่า “ชาวน้ำ” แต่ในสมัยนี้ไม่นิยมใช้คำว่า “ชาวน้ำ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบันทิตยสถานปี พ.ศ 2525 ระบุว่า ชาวน้ำ เป็นชื่อชนชาติเดิมพวกหนึ่งซึ่งอยู่ทางตะวันตกของแหลมมลายูยาวไปจนถึงแถบหมู่เกาะมะริดในน่านน้ำพม่า ซึ่งประกอบด้วยเกาะแก่งน้อยใหญ่ประมาณ 800 เกาะ กระจัดกระจาย ในฤดูคลื่นลมสงบพวกเขาจะแล่นเรือเร่ร่อนไปตามเกาะต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อจับปลา ดำน้ำหาหอย ปลิงทะเล และของทะเลอื่นๆ นำไปเป็นอาหารยังชีพ และขายให้พ่อค้าคนกลาง ทั้งคนไทย จีน และพม่า พอถึงฤดูมรสุมระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม ก็จะหลบคลื่นลมขึ้นฝั่งสร้างบ้านพักชั่วคราว ชาวเลมีวิถีชีวิตเร่ร่อน และใช้เวลาส่วนใหญ่ในเรือทั้งที่เป็นบ้านและยานพาหนะที่นำไปสู่เกาะน้อยใหญ่ แถบทะเลฝั่งอันดามัน วิถีชีวิตอันน่าทึ่งนี้ทำให้ชาวตะวันตกที่ได้มาเห็นชาวเลและได้ขนานนามว่า Sea gypsies(Sea nomads)

ต้นตระกูลชาวเล

เรื่องราวเกี่ยวกับชนเผ่า นักเดินทางทางทะเลในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดกันว่ามอแกนคงจะสืบเชื้อสายมาจาก พวกโปรโตมาเลย์ (Proto Malay) ซึ่งเป็นคนพวกแรกๆ ที่อพยพลงมาอยู่แถบคาบสมุทรมลายู ต่อมาคนกลุ่มนี้หันมาใช้ชีวิตทางทะเล เดินทางร่อนเร่ทำมาหากินตามหมู่เกาะและชายฝั่ง ครอบคลุมอาณาบริเวณตั้งแต่หมู่เกาะมะริดในประเทศพม่า ลงไปทางใต้และตะวันออก จนถึงหมู่เกาะในทะเลซูลู ประเทศฟิลิปปินส์ และรวมเอาหลายๆ เกาะและชายฝั่งในมาเลเซียและอินโดนีเซียไว้ด้วย แต่ปัจจุบันการเดินทาง จำกัดลงมากและคนกลุ่มเหล่านี้ก็แยกย้ายกระจัดกระจายกัน พัฒนาการของสังคมวัฒนธรรมและภาษาก็ต่างกันออกไปจนแยกเป็นกลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่ม

Jacques Ivanoff สันนิษฐานว่าชื่อมอแกนเป็นคำที่ย่อมาจากคำว่า “ละมอ” (ภาษามอแกน แปลว่า จม) และ “แกน” ซึ่งเป็นชื่อของน้องสาวของราชินีในตำนานเก่าแก่ของมอแกน ตำนานนี้ค่อนข้างยาว แต่สรุปได้ว่าน้องสาวคนนี้ไปแย่งคนรักของพี่สาว จึงถูกสาปแช่งให้ตนเองและพรรคพวกต้องมีชีวิตเร่ร่อนอยู่ในทะเล ตามตำนานมอแกน
มอแกน (ชาวเล) Moken ตระกูลภาษาออสโตรเนเชี่ยน (Austronesian Language Family) Synonyms : Mawken, Selon, Selong, Selung ชาวมอเเกนมีถิ่นอาศัยเดิมอยู่บริเวณหมู่เกาะ Mergui ทางตอนใต้ของพม่า ก่อนหน้านั้นชาวมอเเกนอาศัยอยู่บนแผ่นดิน แต่ถูกรุกรานจากพวกมาเลย์ จึงอพยพ ลงไปเร่ร่อนในทะเล (Lebar and others 1964, p.264) ชาวมอแกนเรียกตัวเองว่า “Moken” หรือ “Mawken” ชาวพม่า เรียกว่า Selung หรือ Selong หรือ Selon ชาวมอเเกนมีชีวิตเร่ร่อนบนเรือ อาศัยอยู่ริมปากแม่น้ำ และชายฝั่งเร่ร่อนอยู่บริเวณชาย ฝั่งมาเลเซียและอินโดนีเซีย ชาวอินโดนีเซียเรียก Badjo และบริเวณชายฝั่งสิงคโปร์ ชาวสิงคโปร์เรียก Orang Laut หรือ Rayat Laut สำหรับในประเทศไทยพบในจังหวัดภูเก็ต รู้จักในนาม “ชาวน้ำ” (Lebar and others 1964, p.263) บริเวณที่พบกลุ่มชาว มอแเกน ได้แก่ เกาะลันตาใหญ่ แหลมกิ่ว บ้านคลองนิน คลองน้ำจืด คลองบากันเตียง เกาะมุก เกาะดาน เกาะพีพี แหลมโตนด หาดราไวย์ หาดสุรินทร์ สตูล กระบี่ เป็นต้น

       ระบบครอบครัวของชาวเล เป็นครอบครัวขนาดเล็กจนถึงปานกลาง เพราะต้องร่อนเร่ย้ายถิ่นเพื่อหาอาหารตามที่ต่าง ๆ ชาวเลถือฝ่ายมารดาเป็นใหญ่พวกเขาถือว่ามีลูกสาวจะมีค่า เหมือนได้ทอง เพราะเมื่อแต่งงานแล้วลูกเขยจะมาอยู่กับภรรยา บิดามารดาของผู้หญิงจะได้แรงงานมาช่วย หน้าที่ของผู้ชาย ได้แก่ ออกทะเลไปหาปลา ตักน้ำ หาฟืนหุงอาหาร ซักผ้า ขณะที่ผู้หญิงสบายกว่า ผู้หญิงชาวเลจะรวมตัวกันริมชายหาด นั่งบ้าง นอนบ้าง ปัจจุบัน ครอบครัวชาวเลเริ่มใช้นามสกุลตามกำหนดของราชการ นามสกุลที่สำคัญ ได้แก่ ทะเลลึก ช้างน้ำ ประมงกิจ นาวารักษ์ หาญทะเล เป็นต้น

     ระบบเศรษฐกิจของชาวเล ยังชีพด้วยการหาอาหารตามทะเลน้ำตื้น เช่น จับปลา ดักปลา และหาเก็บพืชผลที่ขึ้นเองตามชายฝั่ง อาหารหลักคือข้าว โดยได้มาจาก การแลกเปลี่ยน ชาวเลจะใช้ปลา เปลือกหอย ปะการัง ไปแลกข้าวกับชาวบ้าน อาหารอื่นๆ ได้แก่ หัวกลอย มะพร้าว เผือก มันเทศ กล้วย นำมาต้ม ย่าง เผากินยามขัดสน ปัจจุบันชาวเลรับจ้างนายทุนงมสิ่งของในทะเล เช่น เปลือกหอยแปลก ๆ แทงกุ้ง ปลา หอย เป็นต้น ( ญา ทิวาราช, 2554)

       ปัจจุบันชาวเลมีการตั้งหลักปักฐานทั้งบนเกาะและบนแผ่นดินใหญ่มาช้านานแล้ว บางแห่งสร้างบ้านสร้างชุมชนมานานกว่า 100 ปี ชาวเลหลายแห่งลูกหลานได้เรียนหนังสือไทย นับถือศาสนาพุทธ พูดภาษาไทยสำเนียงปักษ์ใต้ หากมองแบบผิวเผินก็จะไม่รู้ว่าเป็นคนไทย หรือชาวเลหรือไทยใหม่ มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย สร้างบ้านด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่นไม้จากป่าชายเลน หลังคามุงจาก ไม่สะสมอาหาร ไม่สนใจเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ตนครอบครัวอยู่
ในประเทศไทย มีชาวเลอยู่ 3 กลุ่ม คือ มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย ทั้งสามกลุ่มพูดภาษาตระกูลออสโตรเนเชี่ยน แต่ทว่าแต่ละกลุ่ม ก็มีภาษาย่อยของตนเองซึ่งเป็นภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน และต่างก็มีวัฒนธรรมประเพณีของตนเอง แต่มีประเพณีบางอย่างที่คล้ายคลึง กันเช่น พิธีฉลองวิญญาณบรรพบุรุษและพิธีลอยเรือ

การแต่งกายของชาวเล

สมัยก่อนผู้ชายนุ่งผ้าเตี่ยว ไม่สวมเสื้อ ผู้หญิงนุ่งกระโจมอกด้วยผ้าโสร่ง หรือผ้าถุง ไม่สวมเสื้อปัจจุบันมอเเกนแต่งกายเหมือนคนพื้นเมืองมากขึ้น ผู้ชายหันมานุ่งกางเกง ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง สวมเสื้อ บางคนใช้เครื่องสำอางและ สวมเครื่องประดับ

 

เรือของชาวชาวเล

เรือของมอแกนเป็นทั้งพาหนะและบ้าน เรือ หรือ ก่าบาง ส่วนต่างๆของเรือมาจากคำที่เรียกอวัยวะของมนุษย์ เช่น หละแก้ (ท้อง) ตะบิน (แก้ม) ตู่โก๊ะ (คอ) บ่าฮ้อย (ไหล่) และตะบิ้ง (ซี่โครง) ดังนั้นสำหรับชาวมอแกนเรือก็เหมือนมนุษย์คนหนึ่ง “เรือ” เปรียบเสมือน “บ้าน” ของชาวเล โดยเรือมักจะมีความยาวประมาณ 20-25 ฟุต แต่บางกลุ่มก็จะสร้างบ้านชั่วคราวบนฝั่ง ทำจากใบปาล์มหรือมะพร้าว ยกพื้นสูง ไม่มีระเบียง แต่ในปัจจุบันชาวเลก็เริ่มสร้างบ้านเรือนเลียนแบบคนบนฝั่ง เป็นแบบถาวร โดยใช้ไม้จากป่าชายเลน เช่นไม้โกงกาง หลังคามุงจาก กั้นฝาด้วยจากหรือไม้ไผ่ การดำรงชีพของชาวเลหลัก ๆ ยังคงพึ่งพาการ “จับปลา” ทำประมงน้ำตื้น และที่เสริมเข้ามาในยุคหลัง ๆ ก็คือ “รับจ้างนายทุน” งมสิ่งของในทะเล เช่น เปลือกหอยแปลก ๆ หรือรับจ้างทั่วไป ที่เห็นกันอยู่ไม่ใช่เรือไม้ระกำ (ไม้ระกำมีลักษณะเป็นท่อนเล็กเรียวแบบต้นอ้อย) สมัยนี้มอแกนใช้ไม้กระดานทำเรือกันหมดแล้ว เรือไม้ระกำเหลือเพียงไม่กี่ลำในพม่า มอแกนส่วนใหญ่เลิกใช้ไม้ระกำเสริมกราบเรือแล้ว เพราะไม้ระกำมีอายุใช้งานเพียง 3-6 เดือนเท่านั้น มอแกนหันมาใช้ไม้กระดานเนื่องจากมีความคงทน ใช้ได้นานหลายปี ส่วนมากเรือนั้นใช้ได้นานหลายสิบปี และบางทียังสืบทอดมาถึงรุ่นลูกหลานด้วย หลังจากที่มอแกนหันมาใช้ไม้กระดาน ใบเรือก็หมดประโยชน์ใช้สอยไปด้วย เนื่องจากเรือไม้กระดานมีน้ำหนักมาก ต้องขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์แม้ว่าจะเริ่มซึมซับค่านิยมทางวัตถุมากขึ้นเรื่อย ๆ ( คะนึงนิจ , 2551 )

ใส่ความเห็น